top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSalinee Siruntawineti​

พฤติกรรมศึกษา : ทฤษฎีกบต้ม (The boiling frog Theory)


เมื่อหนังสืออย่าง The origin of species ของ Charles Darwin ได้ออกตีพิมพ์ (ค.ศ. 1859) และเสนอทฤษฎีที่สั่นสะเทือนโลกอย่าง "Natural Selection" เนื้อหาของทฤษฎีโดยสรุปคือ สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวให้เข้าสภาพแวดล้อม ณ เวลานั้นจะอยู่รอดและสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป ในทางกลับกัน ถ้าหากสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า "อ่อนแอก็แพ้ไป" แต่อย่างไรก็ตาม กมลสันดาน ของนักวิทยาศาสตร์คือ "ความสงสัย" เมื่อความสงสัยเกิดขึ้นนักวิทยาศาสตร์ผู้ขี้สงสัยเหล่านั้นย่อมทดลอง ซึ่งการทดลองเกี่ยวกับการปรับตัวของสัตว์ที่โด่งดังพอควรคือการต้มกบ ของนักวิทยาศาสตร์ชาวไอริชที่ชื่อ Tichyand Sherman (1993)

ย่อหน้านี้ผมจะพยายามเล่าการทดลองต้มกบให้เข้าใจง่ายที่สุด คือคุณ Sherman เขามีกบพันธุ์เดียวกันอยู่สองตัว

ตัวแรกคุณ Sherman ได้ใส่ลงไปในหม้อที่มีน้ำเดือดปุดๆ ทันทีที่กบตัวนั้นสัมผัสกับน้ำร้อนขนาดนั้นมันก็กระโดดหนี

ทีนี้มาถึงกบตัวที่สอง คุณ Sherman ได้ใส่ลงไปในหม้อที่มีน้ำอุณหภูมิปกติว่ายน้ำเล่นชิวๆ หลังจากนั้นแกได้ค่อย ๆ เปิดเตาแก๊สและเร่งอุณหภูมิให้สูงขึ้นทีละนิด มาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านอาจจะคาดเดาว่า อีตากบ ตัวนี้จะตอบสนองอย่างไรกับอุณภูมิที่เพิ่มขึ้น ใช่ครับ กบตัวนี้ "ตายในหม้อ"

ปุจฉา_ทำไม ?

วิสัชนา_กบตัวแรกเจอการเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใดและสัมผัสได้ถึงอันตรายจึงเกิดการตอบสนองแบบอัตโนมัติ (Reflec action) คือกระโดดหนีทันที

ในขณะที่กบตัวที่สองลงไปว่ายน้ำเล่นอย่างสบายใจ ไม่ได้ตระหนักว่าอุณหภูมิที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจะเป็นอันตรายต่อตัวเอง ท้ายที่สุดก็สายเกินไปที่จะกระโดดออก

แต่อย่างไรก็ตามการทดลองดังกล่าวก็ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าจริงหรือไม่ จนในปี ค.ศ. 1995 Professor Douglas Melton แห่ง มหาวิทยาลัย Harvard ได้ทดลองซ้ำอีกครั้งและกล่าวโดยสรุปคือ ไม่ใช่กบทุกตัวที่จะตายในกรณีที่ค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิ แต่นี่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะบทความนี้ผมต้องการถอดบทเรียนจากทดลองของคุณ Sherman

กลับมา ณ ปัจจุบัน เมื่อขวบปีเศษที่ผ่านมาเราทุกคนได้รู้จักกับไวรัสตัวนึงชื่อ Corona ทันทีที่ได้รู้จักกันเป็นครั้งแรกคิดว่าทุกคนคงจำความรู้สึกครั้งนั้นได้อยู่ ว่าเราตื่นตัวกันแค่ไหน เราศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับมัน มาจากไหน อาการเป็นยังไง บางคนที่ไม่สบายคล้ายๆ อาการหวัดในช่วงนั้นคงตื่นตระหนกกันทั้งหมู่บ้าน และถ้าซ้ำร้ายใครติดไวรัสชนิดนี้ข่าวจะคึกโครมกันทั่วประเทศ เกิดการตื่นตัวกันในระดับโลก ตอนนั้นประเทศไทยทำการล็อคดาวน์ เข้มงวดกันอย่างมาก จนเราคิดว่าเราผ่านมันมาได้แล้ว กรณีนี้เมื่อเทียบกับการทดลองต้มกบของคุณ Sherman เราเปรียบเหมือนกบตัวแรกที่โดนจับโยนลงไปในหม้อน้ำเดือด

หนึ่งปีผ่านไป ไวรัสก็คือไวรัสเป็นภัยร้ายที่มองไม่เห็นแถมยังมีการปรับตัวที่เก่งกาจ แล้วมันก็ได้กลับมาอีกครั้งในเวอร์ชั่นที่อัพเกรดมาแล้ว จนถึง ณ ขณะนี้ที่ผมกำลังนั่งพิมพ์บทความนี้อยู่ ประเทศไทยเกิดการระบาดระลอกที่สามแล้ว

ลองมาดูตอนนี้พฤติกรรมของเราตอนนี้ต่างจากที่รู้จักไวรัสตัวนี้ครั้งแรกอย่างไร ?

คำถามสุดท้ายของบทความนี้ "เราเป็นกบตัวไหน"

ปล. คุณผู้อ่านสามารถศึกษากรณีการระบาดในอินเดีย เพื่อประกอบการตอบคำถาม

#พรานบุญกระสุนด้าน


ดู 540 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page