ในอนาคตการสั่งสอนวิธีการใช้เงินให้ลูกนั้นจะเปลี่ยนแปลงและยากมากขึ้น เพราะสิ่งล่อตาล่อใจในยุคนี้มีมากมาย จนยากที่จะฝ่าด่านกระแสสังคมออกมาได้และบางครั้งพ่อแม่ก็เป็นคนปลูกฝังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นเสียเอง จากการที่เราสังเกตรอบๆ ตัวก็เจอกับสิ่งเหล่านี้
เด็กประถมเล่นโทรศัพท์ถือสมาร์ทโฟน (ไอโฟน) คุยเล่นกับเพื่อน
เด็กมัธยมขอเงินแม่ไปซื้อบัตรคอนเสิร์ตเกาหลีใบละ 5,000 บาท
เราเห็นแม่ค้าขายผลไม้กำลังเรียกลูกค้าให้มาซื้อของพร้อมกับจัดร้านไปด้วย แต่ลูกสาวเล่นเกมส์บนแท็บเล็ตนอนอยู่ข้างๆ
ภาพเหล่านี้เน้นคำว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” ได้ชัดเจนมาก เราเข้าใจความหวังดีของพ่อแม่ว่าต้องการให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุด มีรูปแบบการใช้ชีวิตหรือสิ่งของที่ทัดเทียมเพื่อน สำคัญที่สุด คือ ไม่อยากให้ลำบากเหมือนตนเอง แต่คุณรู้ไหมว่าสิ่งเหล่านี้กำลังจะสร้างความยากลำบากให้แก่ลูกของคุณในอนาคต ในช่วงที่เขาต้องมีชีวิตอยู่บนโลกเพียงลำพัง จะทำให้เขาไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นหรือสิ่งที่อยากได้ กลายเป็นคนที่รับความลำบากและความผิดหวังไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเวลาอยากได้อะไรพ่อแม่ก็เสกมาให้อยู่ตรงหน้าอย่างง่ายดาย
6 วิธีปลูกฝังการออมตั้งแต่เด็ก
1. สร้างภาพเด็กส่วนใหญ่มักจะเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่และบุคคลรอบข้าง ถ้าเราต้องการปลูกฝังนิสัยประหยัดให้ลูกก็ควรทำตัวเป็นแบบอย่างเพื่อที่ลูกจะได้ซึมซับแต่สิ่งที่ดีๆ เช่น กินข้าวให้หมดจาน ซ่อมแซมของเก่าแทนการซื้อของใหม่ เช่น ซ่อมรองเท้า ซ่อมเสื้อผ้า เป็นต้น ไม่ควรพูดอีกอย่างแล้วทำอีกอย่างเพราะเด็กจะสับสนไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ที่ถูกต้อง เช่น บ่นลูกว่าใช้เงินเปลือง ไม่ช่วยพ่อแม่ประหยัด แต่ตนเองนั้นชอบช็อปปิ้งซื้อเสื้อผ้าใหม่เกือบทุกสัปดาห์
2. สร้างวินัยต้องฝึกวินัยการออมโดยนำเงินค่าขนมที่เหลือมาหยอดกระปุกออมสินทุกวัน พ่อแม่ควรเข้มงวดกับเรื่องนี้จนทำให้ลูกรู้สึกว่าการออมเงินเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะติดตัวลูกไปจนทำให้เขารู้ว่าชีวิตนี้ขาดการออมเงินไม่ได้
3. สร้างนิสัยหัดให้ลูกรู้จักวิธีบริหารเงินจากการจัดสรรค่าขนม สำหรับเด็กเล็กก็อาจจะปรับจากรายวันเป็นรายสัปดาห์ ส่วนเด็กโตก็ปรับวิธีการให้จากรายสัปดาห์เป็นรายเดือน และต้องสร้างนิสัยการจดบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อจะได้รู้ว่าตนเองมีพฤติกรรมการใช้เงินอย่างไรว่าจ่ายไปกับอะไรบ้าง ซึ่งพ่อแม่อาจจะชักจูงให้ลูกจดบัญชีโดยการตั้งกฎไว้ว่าถ้าต้องการขอค่าขนมเพิ่มต้องแจกแจงรายละเอียดรายจ่าย ถ้าเงินหมดไปกับสิ่งไม่มีประโยชน์ก็จะไม่ให้เงินค่าขนมเพิ่มและจะได้ใช้โอกาสนี้สอนลูกว่าถ้าใช้เงินไม่เป็นก็จะทำให้เงินหมดไม่มีเงินใช้กินขนม เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่เริ่มทำงานจะได้รู้วิธีจัดสรรเงินเดือนให้พอใช้ทั้งเดือน
4. สร้างความรักอะไรที่ได้มาง่ายๆ เราก็จะหลงลืมและทอดทิ้งมันไปง่ายๆ แต่ถ้าอะไรที่บุกป่าฝ่าดงไปตามหาได้มาอย่างยากลำบาก เราจะรู้สึกรัก หวงแหนมันมากเป็นพิเศษและดูแลของสิ่งนั้นเป็นอย่างดี พ่อแม่หลายครอบครัวอาจจะปวดหัวกับของเล่นที่ลูกเบื่อไม่อยากเล่น ซื้อมาเล่น 1-2 ครั้งก็ทิ้ง ทำให้สิ้นเปลืองเงินทองถ้าต้องการให้ลูกรู้จักคุณค่าของเล่นมากกว่านี้ก็ควรฝืนใจไม่ยอมซื้อให้ทันที แล้วชักจูงให้ลูกออมเงินซื้อของเล่นจากเงินค่าขนมของตัวเองเพื่อจะได้รู้ว่ากว่าจะได้ของเล่นแต่ละชิ้นนั้นมันยากลำบากมากแค่ไหน เมื่อเก็บเงินครบจนซื้อของเล่นมาครอบครองได้สำเร็จก็จะดูแลดีมากกว่าของเล่นชิ้นอื่น
5. สร้างความคิดสร้างเกราะป้องกันทางความคิดด้วยการสอนลูกด้วยเหตุผลว่าอะไร คือ สิ่งจำเป็นและไม่จำเป็น คิดก่อนซื้อและรู้จักตัวเอง เช่น ถ้าวันไหนไม่มีเงินค่าขนมเหลือกลับมาหยอดกระปุก พ่อแม่ก็ควรสอบถามว่าใช้เงินไปกับอะไร ไม่ควรเป็นคำถามในเชิงจับผิด แต่ควรสอบถามถึงเหตุผลการใช้เงินเพื่อปรับวิธีการใช้เงินที่ถูกต้องให้ลูก เช่น ถ้าลูกอาจจะนำเงินไปซื้อขนมกรุบกรอบและดื่มน้ำอัดลมเพราะหิวมาก เราก็อาจจะแนะนำว่าควรซื้อของกินอะไรบ้างที่ทำให้อิ่มท้อง ไม่ใช่กินขนมกรุบกรอบกับนำอัดลมที่กินไปเมื่อเย็นนี้
6. สร้างความรู้ปลูกฝังเรื่องวิธีการใช้เงินอย่างฉลาด วิธีใช้เงินที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร อธิบายอย่างง่ายให้ลูกเห็นภาพว่าเงินที่ใช้นั้นมาจากการทำงานแล้วจ่ายไปกับสิ่งต่างๆเพื่อให้ครอบครัวมีบ้าน มีรถยนต์ มีของกิน มีค่าเล่าเรียน ฯลฯ สอนให้รู้จักคำว่า “หนี้” ใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างมุมมองใหม่ในโลกที่มีความสุขโดยไม่ต้องใช้เงินนั้นเป็นอย่างไร
พ่อแม่อย่ามองว่าพูดเรื่องนี้ไปลูกก็ไม่รู้เรื่องหรอกเพราะยังเด็กอยู่ รอให้เขาโตกว่านี้แล้วค่อยเล่าให้ฟังก็ได้ แต่พ่อแม่ก็มักจะเห็นลูกเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลาแล้วเมื่อไหร่ล่ะจะได้เวลาอธิบายเรื่องเงินให้ลูกฟัง เด็กสมัยนี้ฉลาดเป็นกรด พูดแล้วเข้าใจง่ายกว่าผู้ใหญ่บางคนเสียอีก ดังนั้น ถ้าเราปลูกฝังความคิดเรื่องเกี่ยวกับการเงินได้เร็วเท่าไหร่จะยิ่งดี
เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกับลมหายใจที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ แต่กลับเป็นสิ่งที่เรารู้จักมันน้อยที่สุด การทำความรู้จักเงินนั้นต้องเริ่มปลูกความคิดเกี่ยวกับเงินมาตั้งแต่เด็กว่าควรใช้เงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อที่จะเติบโตขึ้นกลายเป็น “ผู้ใหญ่ที่รู้จักใช้เงิน
Credit : Krungsri Bank
Komentarze