top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนThe Buddy Team

“เด็กๆ ของเรา กำลังเรียนรู้จากหลักสูตรที่ถูกเขียนและพัฒนาขึ้นใน ศตวรรษที่ 19 และ ถ่ายทอดโดย กลุ่มคนจาก ศตวรรษที่ 20 และ ผู้เรียนคือกลุ่มคนที่ เกิด และ โต รวมทั้งต้องใช้ชีวิตอยู่ใน ศตวรรษที่ 21”

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่า an inconvenient truth ความจริงที่ไม่สะดวกใจเท่าไหร่ สำหรับทุกคน 





ครูคิด และ ได้ยินสิ่งนี้มานานแล้ว และมาได้ยินอีกครั้งในห้องเรียน ป.เอก  ที่มีอาจารย์ ยุทธชัย เฉลิมชัย 

Guest Speaker ของรายวิชา พหุลักษ์ และ นวัตกร อาจารย์เคยเป็นอุปนายกสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และ อาจารย์ยังเป็นคุณพ่อโฮมสคูลที่ออกแบบการเรียนรู้ให้ลูกด้วยตัวเองในยุคแรกกว่า 20  ปีที่แล้ว รู้สึกประทับใจ และ เป็นเกียรติอย่างมากที่ได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ 


หนึ่งในหัวข้อที่ได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ก็คือ  7 คุณลักษณะวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ จึงตั้งใจมาแบ่งปัน และ แลกเปลี่ยนเพิ่มเติมกับผู้ปกครอง และ นักการศึกษาทุกคน


 7 คุณลักษณะ และ วัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ มีอะไรบ้าง


  1. Unlearn-Relearn รู้แล้วทิ่งไปเรียนรู้ใหม่ได้เสมอ 

  2. Self Directed Learning   เราเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเราเอง

  3. My Lesson Plan  การศึกษาผู้เรียนออกแบบเองได้

  4. Growth Mindset พลังการเรียนรู้มีอยู่ในตัวเรา เรียนรู้ได้ทั้งสิ่งชอบใจไม่ชอบใจ ยิ่งยากยิ่งท้าทาย ยิ่งเรียนรู้

  5. Learning : The Treasure Within เรียนรู้ขุมทรัพย์ในตน ต่อยอดจากความรักความสนใจ ทำให้ชำนาญ สังคมเห็นคุณค่า นำมาเลี้ยงชีวิต

  6. Community Based Learning ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ เรียนรู้จากความเป็นจริง โจทย์จริง ผู้รู้จริง นำไปใช้ในชีวิตได้จริง

  7. Learning to Live Together เรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน อย่างใส่ใจ เสมอภาค เท่าเทียมพึ่งตนเองได้ พึ่งพากันได้ ร่วมสร้างสรรค์สังคมพหุวัฒนธรรม


ขออนุญาตแบ่งปัน และ แลกเปลี่ยนต่อจากคลาสเรียน แบบคลาสจบแล้วแต่ยังมีเรื่องให้ต้องคิดต่อว่า แล้วสิ่งเหล่านี้ จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเด็กยังอยู่ในความไม่สัมพันธ์กันของหลักสูตร ผู้สอน และ โลกอนาคต 

เราลอง มาคิดต่อไปพร้อมๆกัน 


ในส่วนของ Unlearn - Relearn ครูคิดว่ามันจะสามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กไม่ถูกปิดกั้น  และ ตัวเราเองก็ไม่ปิดกั้นตัวเราเองเช่นกัน 

อยากชวนครูและพ่อแม่ลองดูว่าในวันนี้มีอะไรบ้างที่เรายังใช้ไม่เป็น และ มีความท้าทายที่จะทำความเข้าใจ อย่าคิดไปถึง AI เลย บาง Function ในโทรศัพท์ของเราเอง เราอาจจะยังใช้ไม่ดีเท่าเด็กๆเลย มีหลายอย่างที่เราตามไม่ทันโลกยุคใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัว ในขณะที่เรากำลังปรับตัวมีหนึ่งสิ่งที่เราต้องคำนึงคือ  เรากำลังหยุดลูก หรือ เด็กๆ ในความดูแลของเราไม่ให้เรียนรู้หรือไม่ ขอพูดเจาะจงไปในเรื่องของการจำกัดการใช้จอ และ เทคโนโลยี ที่มีทั้งข้อดี และ ข้อเสีย ข้อดีคือ เด็กจะได้ถนอมสายตา และ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ คำถามคือ เมื่อเด็กไม่อยู่หน้าจอ เด็กใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์จริงหรือไม่? ส่ิงที่เรากังวลคือเรื่องการใช้จอหรือเรื่องความฉลาดรู้และรอบรู้เรื่องเทคโนโลยีกันแน่ ซึ่งก็หมายถึง เด็กใช้เครื่องมือ และ เทคโนโลยีต่างๆ อย่างรู้เท่าทัน และ สามารถจัดการตัวเองได้ อีกหนึ่งคำถามคือ วันนี้เราสามารถห้ามเค้าได้ แล้ววันหน้าเราจะยังสามารถห้ามเค้าได้หรือไม่ หากวันนี้ เราไม่ได้พัฒนา​ Digital Skills & Digital Literacy  เอาไว้ให้กับเด็กๆ แต่ทำตรงกันข้ามคือ ปิดกั้นการพัฒนาในส่วนนี้ จะเป็นประโยชน์กับเด็กๆจริงใช่หรือไม่ 

หากเรามีความเข้าใจตรงนี้จริงๆ เราจะสามารถสร้างเด็กๆนักพัฒนาในอีกเยอะแยะมากมาย ให้ทั่วโลกต้องทึ่งในความสามารถของเด็กเรา


Self Directed Learning   เราเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเราเอง และ  My Lesson Plan  การศึกษาผู้เรียนออกแบบเองได้


สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเด็กๆได้รับอิสระในการจัดการตัวเองตามสิ่งที่เค้าสนใจใคร่รู้ และ ทดลอง เชื่อหรือไม่ว่าเด็กหลายคน หรือ ส่วนใหญ่ ไม่มีความมั่นใจที่จะทำเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เพราะตลอดชีวิตของเค้ามีตารางเวลากำหนดไว้แล้ว เวลาโรงเรียนเข้า เวลาสอบ เวลาทัศนศึกษา เวลากินข้าว เวลาเรียนพิเศษ พอเด็กมีเวลาว่าง ผู้ใหญ่เป็นกังวลว่าจะว่างเกินไปเลยหาอะไรมาให้เด็กเรียนเพิ่ม เรื่องนี้จะไม่แปลกอะไรเลย หากเด็กเป็นผู้เลือกเองว่าอยากจะเรียนรู้อะไร และ ผู้ใหญ่เคารพสิ่งที่เค้าเลือก โดยไม่เอาความกลัวของเราไปครอบงำการตัดสินใจของเด็ก นอกจากนั้นเราควรต้องเคารพเวลา และ พื้นที่การเรียนรู้ของเด็กด้วย ไม่เข้าไปแทรกแซงจนการเป็น Parent directed learning หรือ Teacher directed learning 

ท้ายที่สุดผลลัพธ์ของการเรียนรู้มันไม่ใช่แค่คำว่า “สำเร็จ” หรือ “สอบผ่าน” มันคือรู้แล้วเด็กจะทำอย่างไรต่อกับสิ่งที่เรียนรู้มา เพื่อให้องค์ความรู้มันไม่ลอยอยู่ในอากาศ  แต่เด็กสามารถเชื่อมโยง กับชีวิตประจำวันได้ Growth Mindset พลังการเรียนรู้มีอยู่ในตัวเรา เรียนรู้ได้ทั้งสิ่งชอบใจไม่ชอบใจ ยิ่งยากยิ่งท้าทาย ยิ่งเรียนรู้


เรื่องของ Mindset เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ผ่านบทเรียน แต่มันคือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ และ การลงมือปฏิบัติจริง เพื่อขยายกรอบความคิด เพื่อเปลี่ยนความเชื่อ เพื่อให้ยืด comfort zone ของเด็กให้มากที่สุด ข้อจำกัดในการพัฒนา Growth Mindset คือ ความกลัวของผู้ใหญ่ กฏระเบียบที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ทุกอย่างง่ายสำหรับผู้ใหญ่ และ การจำกัดการเรียนรู้ด้วยวัย เช่น เด็กเล็กไม่ควรไปค่าย รอให้โตก่อน เด็กเล็กยังไม่ควรตัดสินใจอะไรเอง รอให้โตก่อน หรือ การที่ไม่ปล่อยให้เด็กสัมผัสกับความผิดหวัง และ ลุกขึ้นมาจากความผิดหวังด้วยตัวเอง หรือบ้างครั้ง เราก็เข้าไปกำกับมากเกินไป จนเด็กเสียความมั่นใจที่จะเลือก หรือ คิดด้วยตัวเอง 

การฝึกเด็กไม่ยากเท่ากับการที่เราฝึกใจตัวเอง เพื่อให้เราสามารถให้พื้นที่เค้ามากพอ


Learning : The Treasure Within เรียนรู้ขุมทรัพย์ในตน ต่อยอดจากความรักความสนใจ ทำให้ชำนาญ สังคมเห็นคุณค่า นำมาเลี้ยงชีวิต


เราผ่านยุควิกฤตมาก็หลายยุค ทั้งต้มยำกุ้ง และ โควิด เราในฐานะผู้ใหญ่รู้ดีว่าการเรียนในห้องเรียน หรือ การใช้เกรดตัดสินการเรียนรู้มันอาจจะใช้ไม่ได้เสมอไป เราอยู่ในยุคออนไลน์ที่คนแต่ละคนเปรียบเทียบกันโดยไม่รู้ตัวจากสื่อ Social Media และ มันทำให้เด็กสับสน ว่าคุณค่าของตัวเองอยู่ตรงไหน และ อะไรคือ คุณค่าในตัวเอง เพราะวันแต่ละวันทุกคนต่างยุ่งแต่เรื่องของตัวเอง อย่าว่าแต่เด็กเลย จำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2564 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพยายามฆ่าตัวตาย 6 คนต่อชั่วโมง หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คน และเสียชีวิตราว 4,000 คน นี่คือ อีกหนึ่ง inconvenient truth ที่เรารู้แต่มองข้าม 

ลูกของเราอาจจะพยายามจะบอกเราหลายครั้ง ว่าเค้าชอบอะไร หรือ ไม่ชอบอะไร นักเรียนอาจจะพยายามสื่อสารกับเราหลายหน ว่าเค้าอยากได้ห้องเรียนแบบไหน คำตอบที่พวกเค้าได้รับ “เข้าใจแต่หนูต้องทำอันนี้ก่อน” เด็กคงคิดว่า แล้วมันเข้าใจตรงไหน ส่วนผู้ใหญ่ก็คงคิดว่า มันคือสิ่งจำเป็น 

อะไรคือสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กที่แท้จริง  เด็กที่ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เห็นคุณค่าในตัวเอง และ พร้อมแบ่งปันให้กับคนอื่น กับเด็กที่ทำคะแนนได้สูง แต่กลับรู้สึกไม่มีค่าเลย 


Community Based Learning ชุมชนเป็นฐานการ เรียนรู้จากความเป็นจริง โจทย์จริง ผู้รู้จริง นำไปใช้ในชีวิตได้จริง


การเรียนรู้ของเด็กไม่ควรถูกจำกัดอยู่ที่ชุมชนได้ชุมชนหนึ่ง เพราะเด็กมีความต้องการที่หลากหลาย แต่ในขณะเดียวกัน การปล่อยให้พวกเค้าออกสู่ชุมชน โดยไม่มีผู้ชี้แนะแนวทาง หรือ ให้ข้อมูลก็อาจจะเกิดผลในทางลบได้เช่นกัน การพัฒนาชุมชน หรือ การให้ความรู้กับคนในชุมชน มีความตระหนักต่อการพัฒนาเด็ก หรือ รูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปมีความหมายมาก สำหรับ Community based learning เพราะฉะนั้น mentorship หรือ การสร้าง learning ecosystem ให้กับเด็กๆ ไปพร้อมๆกับการเปิดโลกกว้างก็สำคัญเช่นเดียวกัน และ นี่ถือเป็นสิ่งที่ เฟ็นไอ ให้ความสำคัญอย่างมาก เราตั้งใจที่จะเป็นผู้รวบรวม คัดเลือก และ สร้าง ระบบนิเวศน์การศึกษาให้กับทุกคนที่สามารถสนับสนุนการเรียนรู้ได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ 

สร้างให้เกิด community ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเห็นผู้เรียนเป็นสำคัญ 


Learning to Live Together เรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน อย่างใส่ใจ เสมอภาค เท่าเทียมพึ่งตนเองได้ พึ่งพากันได้ ร่วมสร้างสรรค์สังคมพหุวัฒนธรรม


ข้อนี้สำคัญมากเลยที่เราจะต้องหยุดให้การเรียนรู้เป็นการแข่งขัน และ เปลี่ยนมาเป็นการแบ่งปัน ยอมรับในความแตกต่าง ไม่ได้เติบโตเพราะใครเด่นกว่ากัน

แต่เติบโตบนเส้นทางที่ต่างกัน ตามความชอบ และ ความถนัด ที่สำคัญคือการเอาจุดแข็งมาช่วยเหลือกัน และ แลกเปลี่ยนกันช่วยเหลือในด้านที่ตนไม่ถนัด

 นอกจากการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือ การทำงานเป็นทีมแล้ว เด็กๆยังต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ภาษา และ ศาสนา อีกด้วย ท้ายที่สุดที่เราอาจจะไม่ค่อยได้พูดกับเด็กๆ คือ ความแตกต่างด้านภูมิหลังของแต่ละคนก็จะมีผลต่อการใช้ชีวิตร่วมกัน เด็กๆ จะได้ไม่ทะเลาะกัน แต่เข้าใจ และ แบ่งปัน เพราะการทะเลาะกัน หรือ ผิดใจกัน อาจเกิดเพียงเพราะความคาดหวังจากความเคยชินที่บ้านโดยที่เค้าไม่ได้รับรู้ว่า แต่ละบ้านไม่เหมือนกัน สอนให้เค้าเข้าใจความแตกต่าง 

มากกว่าการเปรียบเทียบ แล้วเด็กๆของเรา จะสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข 

สุดท้ายนี้ ขอบคุณ ขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนาประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาการศึกษานอกระบบโรงเรียน และ อาจารย์ ยุทธชัย เฉลิมชัย  ที่ให้แรงบันดาลใจ และ ความเข้าใจในเรื่องของการศึกษานอกระบบโรงเรียนมากยิ่งขึ้น และ ขอขอบคุณพี่น้องนิสิตป.เอกที่ทำให้ได้เรียนรู้มุมมองที่แตกต่าง และ หลากหลาย 


ดู 29 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page